ทักษิณ 1

การเดินทางกลับเข้าไทยของนาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 10 ปี ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อบุตรสาวออกมายืนยันกำหนดการเดิมในเดือน ก.ค. “แต่ต้องดูสถานการณ์ประกอบด้วย”

จนท.ราชทัณฑ์รอรับ ทักษิณ ที่สนามบิน

หากนายทักษิณแจ้งอย่างชัดเจนว่าจะกลับไทยด้วยวิธีการใด และเปิดเผยกำหนดการที่แน่ชัด คาดว่าจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปรอรับ เพราะอดีตนายกฯ ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาล 4 คดี ในจำนวนนี้มีอยู่ 3 คดีที่ยังไม่หมดอายุความ รวมอัตราโทษจำคุก 10 ปี

“กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุด เป็นมากกว่าหมายจับอีก เชื่อว่าจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถือหมายแจ้งโทษไปรอรับถึง ตม. (ด่านตรวจคนเข้าเมือง) เลย ตั้งแต่ระบบ ตม. แจ้งเตือนว่า ‘นักโทษชายทักษิณ’ จะเดินทางเข้าประเทศวันนี้-เวลานี้ ซึ่งตัวคุณทักษิณเองก็ย่อมต้องรู้ว่าเมื่อมาถึงแล้ว จะถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำทันที” ทนายความ ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ กล่าว

ภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นที่สนามบิน ไม่ต่างจากภาพข่าวที่ผู้คนเคยเห็นวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นว่า มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปนั่งอยู่หลังห้องพิจารณาคดีของศาล 2 คน พอศาลอ่านคำพิพากษาจบ เจ้าหน้าที่ก็จะคุมตัวจำเลย/ผู้ต้องคำพิพากษาขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง แล้วส่งตัวเข้าเรือนจำทันที

คาดส่งตัว ทักษิณ เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ทนายความรายนี้ระบุว่า กรณีนายทักษิณคาดว่าจะถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับนักการเมืองรายอื่น ๆ ที่ตกเป็นผู้ต้องขังโดยคำพิพากษาศาล ไม่ว่าจะเป็น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ต้องโทษจำคุก 48 ปี คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ต้องโทษจำคุก 36 ปี ในคดีเดียวกัน รวมถึงนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องโทษจำคุก 99 ปี คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ที่ถูกคุมตัวจากศาลไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบัน อดีตนักการเมืองที่ล้วนแต่เป็นลูกน้องเก่าของนายทักษิณกลุ่มนี้ถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรมแล้ว เนื่องจากมีอัตราโทษสูงเกิน 15 ปี (เกินอำนาจการควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ)

ทันทีที่ไปถึงเรือนจำ โดยขั้นตอนปกติของกรมราชทัณฑ์ จะต้องทำประวัติผู้ต้องขังใหม่ ตรวจสุขภาพ และให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวตามระเบียบเรือนจำ โดยผู้ต้องขังใหม่จะอยู่ใน “แดนแรกรับ” ราว 3 สัปดาห์ ก่อนส่งเข้าสู่แดนต่าง ๆ ของเรือนจำตามอัตราโทษที่ได้รับ

จับตาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย

กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วันแรกที่นายทักษิณเข้าไปนอนในคุก

หลักเกณฑ์การขอลดโทษกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม แบ่งการพระราชทานอภัยโทษออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป มักมีขึ้นในวโรกาสมหามงคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทำโดยการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หรือจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี สุดแต่ระยะเวลาใดจะเป็นคุณมากกว่า

หากนำกรณีนายทักษิณมาเทียบเคียง นั่นเท่ากับว่า เขาต้องรับโทษจำคุกอย่างน้อย 3 ปี 3 เดือน จากโทษที่ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วและยังไม่หมดอายุความ 10 ปี จึงจะเข้าเกณฑ์ ขณะนี้ถือว่าคุณสมบัติยังไม่เข้าเกณฑ์

  1. การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย สามารถทำได้ด้วยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะยื่นฎีกา ต้องเป็นผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดามารดา บุตร คู่สมรส โดยยื่นเรื่องผ่านเรือนจำ หรือกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักราชเลขาธิการ หรือกระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูต (กรณีเป็นชาวต่างชาติ) จากนั้นกรมราชทัณฑ์ก็จะสอบสวน เรื่องราวยังเรือนจำที่ควบคุมตัวผู้ต้องโทษ และเสนอความเห็นให้ รมว.ยุติธรรม ลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยอย่างไร ก็จะส่งผลฎีกาให้กรมราชทัณฑ์ทราบและดำเนินการ และแจ้งผลให้ผู้ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทราบต่อไป

“กรณีเดียวที่คุณทักษิณจะออกจากเรือนจำได้ คือต้องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องเข้าไปในคุกก่อน แต่ทั้งหมดนี้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์” ทนายความคนเดิมกล่าว

ทักษิณ 2

ระเบียบใหม่ราชทัณฑ์ใช้กับ ทักษิณ ไม่ได้

วานนี้ (7 มิ.ย.) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566 ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ผู้ประกาศว่า “ขอกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน” ในเดือน ก.ค. ให้สามารถไปกักกันตัวในสถานที่อื่น นอกจากเรือนจำ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย และโฆษกกรมราชทัณฑ์ ต่างออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว

นายวิษณุอธิบายว่า การกักกันไม่ใช่โทษตามกฎหมายไทย เพราะโทษตามกฎหมายไทยมีอยู่ 5 อย่าง ได้แก่ ประหารชีวิต, จำคุก, กักขัง, ปรับ และริบทรัพย์สิน ซึ่งกักกันไม่ได้อยู่ใน 5 อย่างดังกล่าว แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าวิธีการเพื่อความปลอดภัย กรมราชทัณฑ์จึงต้องออกระเบียบมากำหนดว่าจะกักกันที่ไหน อย่างไร

“เป็นคนละอย่างกับเรื่องโทษ หากศาลสั่งจำคุก จะไปเปลี่ยนเป็นกักกันไม่ได้… แต่คนบางส่วนเข้าใจว่าการกักกันสามารถรวมกับโทษได้ แล้วไปคิดถึงเคสนักโทษกลับมา เข้ามามอบตัว และไปกักกันที่บ้าน อย่างนั้นก็ไม่ใช่ จะใช้ในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะคุณต้องโดนโทษ ไม่ได้โดนกักกัน” รองนายกฯ กล่าว

โทษจำคุก 10 ปีที่รออยู่

นายทักษิณไปใช้ชีวิตในต่างแดน 17 ปี ภายหลังพ้นจากตำแหน่งนายกฯ คนที่ 23 ด้วยรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

เขาถูกตั้งข้อหาทุจริตในหลายคดี ในจำนวนนี้มีอยู่ 4 คดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ทว่ามีอยู่ 1 คดี ที่คดีขาดอายุความไปแล้ว เหลือโทษจำคุกรวม 10 ปี

  • คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี (คดีขาดอายุความแล้ว)
  • คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือที่เรียกกันว่า “คดีหวยบนดิน” ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
  • คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอกซิมแบงก์) อนุมัติปล่อยเงินกู้ 4,000 ล้านบาทให้แก่เมียนมา ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา
  • คดีให้นอมินีถือหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ก่อนหน้านี้เมื่อ 28 ก.พ. 2551 นายทักษิณเคยเดินทางกลับเข้าประเทศแล้วครั้งหนึ่ง แล้วปรากฏภาพ “กราบแผ่นดิน” ซึ่งในเวลานั้น เขาตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ร่วมกับคุณหญิงพจมาน ภริยา ศาลอนุมัติให้ประกันตัว ก่อนที่เจ้าตัวจะเบี้ยวนัดให้มารายงานตัวต่อศาล 11 ส.ค. 2551 และหนีคดีไปใช้ชีวิตในต่างแดน ไม่เคยเดินทางกลับบ้านเกิดอีกเลย


ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาความสามารถอาจทำให้เข้าใจว่าสัตว์เรียนรู้ได้อย่างไร
การ์เซีย ให้โอกาสโรนัลโด้แก้ตัวอีกหนึ่งเกมกับทีมฟุตบอลอัล นาสร์
นี่อาจเป็นการนำเสนอพิเศษ ครั้งแรกของ Marvel Studios
ราคาทองวันนี้ล่าสุด 8 ก.พ. 66
ติดตามข่าวอื่นๆได้ที่ https://snapcaledononline.com/
สนับสนุนโดย  ufabet369
ที่มา www.bbc.com