แมวจร เปนแมวพลัดหลงหรือถูกทิ้ง คุ้นเคยกับคนน้อยมาก การที่จะได้รับมาดูแลให้ได้รับความรัก กินอิ่ม นอนหลับได้เหมือนกับแมวบ้านตัวอื่นๆ ต้องดูให้ดีเพราะตัวที่เจอไม่สามารถรู้ได้ว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร พ่อแม่แมวเป็นใคร ร่างกายแข็งแรงดีหรือไม่ เคยโดนทำร้าย มีบาดแผล หรือติดโรคอะไรมาหรือเปล่า รวมไปถึงการปรับตัวต่างๆ ที่ต้องทำให้น้องแมวชินกับคนมากขึ้น ลดความระแวง ความหวาดกลัวที่ติดมากับนิสัยแมวจรลง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่เจ้าของทั้งมือเก่า มือใหม่ในการเลี้ยงแมว จำเป็นต้องให้ความสำคัญ แต่ไม่ได้ยากเกินใจทาสแมวอย่างแน่นอน

แมวจร คืออะไร

แมวจร (feral cats) ก็คือแมวที่ถูกทอดทิ้งหรือพลัดหลงกับเจ้าของ ซึ่งทำให้มันต้องเผชิญหน้ากับโลกภายนอกที่มีแต่ความทารุนโหดร้าย ทำให้แมวประเภทนี้มีนิสัยค่อนค้างที่จะดิบเถื่อน ดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอด และแน่นอนว่าลูกหลานของเจ้าแมวเหล่านี้ก็จะต้องปรับพฤติกรรมเพื่อความอยู่รอดด้วยเช่นกัน

ด้วยสภาพการใช้ชีวิตแบบอิสระหรือที่เราเรียกว่าระบบเปิด ส่วนใหญ่จะมีอายุไขเพียงสามปีเท่านั้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากอุบัติเหตุบนถนน การติดโรคต่างๆ หรือการขาดสารอาหาร ซึ่งใครที่คิดจะเลี้ยงก็ต้องไม่ลืมที่จะพามันไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบก่อน ไม่งั้นน้องอาจจะไปแพร่เชื้อใส่ตัวอื่นๆ ในระแวกนั้นได้

ดังนั้นเวลาที่ไปรับแมวข้างนอกมาเลี้ยงก็ควรที่จะเข้าหาน้องด้วยความเป็นมิตร และให้เวลาในการปรับตัว เพราะส่วนใหญ่จะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมหลากหลายรูปแบบ บ้างก็กลัวคน บ้างเข้าหาง่าย ดังนั้นก็ควรจะให้เวลา อดทน ในการปรับตัวด้วย

นิสัยของแมวจร

จะมีความคุ้นเคยกับคนน้อยมาก บางตัวพอเห็นคนก็หนีท่าเดียว ส่วนใหญ่ก็คือแมวที่เกิดตามข้างถนน แต่ก็มีหลายตัวที่เคยมีเจ้าของแล้วถูกทิ้ง ที่น่าสงสารที่สุดคือแมวหลง แต่ไม่ว่าจะมีที่มายังไงก็มักจะมีนิสัยขี้ระแวง หวาดกลัวคน พอถึงตาจนก็จะสู้ยิบตาด้วยการกัดหรือข่วน ไม่มีหรอกที่จะกระโดดขึ้นตักมาซุกไซ้ (หมายถึงตอนเจอหน้ากันครั้งแรก) เพราะขี้กลัวเลยทำให้ฝึกให้เชื่องยากเหลือเกิน แต่ถ้าตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าอยากฝึกให้เชื่อง ก็มีวิธีที่สามารถฝึกได้ แต่ก็ต้องอาศัยทั้งเวลาและความอดทน

การเริ่มต้นดูแลแมวจร

การเปลี่ยนแมวจรให้กลายมาเป็นแมวบ้าน มีความแตกต่างในช่วงเริ่มต้น ที่ทาสแมวต้องใส่ใจในสุขภาพกายและสุขภาพใจของน้องมากเป็นพิเศษ เพื่อให้น้องแมวสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เข้ากับคนในบ้านมากที่สุด สิ่งที่ควรทำเบื้องต้นมีดังนี้

  • ต้องแน่ใจว่าไม่ติดโรคอะไรมา แน่นอนว่าก่อนหน้านี้เขาก็ต้องพเนจรไปทั่วจนเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าน้องเป็นแมวที่หลุดมา หลงมา หรือเป็นแมวจรตั้งแต่เกิด เคยได้รับวัคซีนไหม? รับครบหรือเปล่า เคยได้เข้ารับการเจาะเลือดเพื่อตรวจโรคหรือไม่ เบื้องต้นจึงควรพาไปเจาะเลือดตรวจโรค ตรวจสุขภาพ ถ่ายพยาธิ และเริ่มฉีดวัคซีนพื้นฐานกับสัตวแพทย์ การตรวจโรคให้แน่ใจก่อนนอกจากจะทำให้สามารถรักษาเขาได้อย่างทันทีหากมีปัญหาแล้ว ยังช่วยป้องกันโรค ไม่ให้ติดแมวตัวอื่นๆ ที่เลี้ยงอยู่แล้วในบ้านได้อีกด้วย
  • กระชับพื้นที่น้องแมวก่อน  ในช่วงที่พึ่งรับน้องเข้ามาเลี้ยงใหม่ๆ แนะนำให้กักบริเวณน้องในช่วง 3 – 5 วันแรกก่อน ในห้องหรือกรงที่กักบริเวณควรมีน้ำ อาหาร กระบะทรายให้พร้อม ระหว่างที่กักบริเวณอย่าลืมสังเกตอาการต่างๆ ของน้องแมวเพิ่มเติมด้วย เช่น กินอาหาร ขับถ่ายตามปกติไหม ถ่ายเป็นอย่างไร มีน้ำมูกหรือขี้ตาแฉะหรือไม่ หลังจากครบ 3 – 5 วัน คอยปล่อยให้น้องเริ่มสำรวจบ้านในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม การที่จะให้เขาปรับตัวให้คุ้นชินต้องใช้เวลา
  • ปรับพฤติกรรมแมว หากเป็นแมวเด็ก เจ้าทาสอาจจะต้องสอนวิธีการใช้กระบะทรายเขาซะหน่อย หากน้องมีทีท่าว่ากำลังจะเบ่งขับถ่ายให้อุ้มเขาลงกระบะทรายทันที ทำเรื่อยๆ 2 – 3 ครั้ง น้องแมวก็จะเรียนรู้ได้เองอัตโนมัติ ส่วนทาสแมวคนไหนที่รับน้องที่เริ่มโตแล้วมาเลี้ยง ไม่ต้องกังวล เจ้าพวกนี้ส่วนใหญ่รู้ได้ด้วยตัวเอง  นอกจากนี้ในช่วงแรกเริ่มที่เอาเข้าบ้านมา อย่าพึ่งจับน้องอาบน้ำโดยเด็ดขาด ปล่อยให้เขาได้ปรับตัวกับสถานที่ และคุ้นชินเสียก่อน แต่หากใครอดใจไม่ไหวในความสกปรกของน้องแมว อาจจะใช้กระดาษทิชชูเปียก หรือโฟมอาบน้ำแบบแห้งเช็ดตัวก่อนก็ได้
  • ดูแลสุขภาพน้องแมวต่อด้วยอาหารดีๆ ปัญหารองมาจากเรื่องการตรวจหาโรค นั้นก็คือเรื่องของโภชนาการ ร่างกายผอมแห้งเพราะขาดสารอาหารเนี่ยละ วิธีแก้ไขนอกจากการเข้ารักษากับสัตวแพทย์ (ในกรณีขาดสารอาหารอย่างหนัก) การดูแลอาหารการกิน ปรับสมดุลให้สุขภาพของเขากลับมาสมบูรณ์แข็งแรงให้ได้มากที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ แนะนำให้เลือกอาหารแมวที่มีการคิดค้นสำหรับสุขภาพของน้องแมวโดยเฉพาะ

การรับเข้ามาเลี้ยงมีเพียงความแตกต่างในช่วงแรกเท่านั้น หากน้องได้รับการตรวจเลือด เช็กสุขภาพเป็นที่เรียบร้อย บวกกับแมวเริ่มคุ้นชินและสภาพแวดล้อมภายในบ้าน เพียงเท่านี้การเลี้ยงเขาก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แถมจะรักจะหลงเขามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นน้องแมวแล้ว ดีกรีความขี้อ่อนไม่แพ้ใครแน่นอน

แมวจร

ขั้นตอนฝึกแมวจรให้เชื่อง

1. ให้อาหารนอกบ้าน

การฝึกให้เชื่องเป็นเรื่องที่ต้องทำหลังแมวจรย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านแล้ว ต้องจัดการเรื่องกลัวคนให้เรียบร้อยซะก่อน ไม่งั้นคงเอาเข้าบ้านไม่ได้แต่แรก การหมั่นให้อาหารนี่แหละที่สร้างความสนิทสนมระหว่างกันได้ ถ้าไม่ได้เชื่อใจหรือเข้าใจว่ารัก อย่างน้อยก็รู้ว่าเข้าใกล้แล้วจะได้อาหารแน่นอน และควรให้อาหารเวลาเดิมทุกวัน

2. จับแมวจร

แน่นอนอยู่แล้วว่ามักพุ่งตัวหนีไปทันควันเวลาเข้าใกล้ เพราะงั้นทางเดียวที่จะจับเพื่อเอาไปเลี้ยงในบ้านได้ คือวางกับดักที่ปลอดภัยสำหรับแมว แบบนี้ก็ปลอดภัยด้วย กรงดักแมวแบบนี้ถูกออกแบบมาให้ประตูปิดตามหลังทันทีที่แมวก้าวเข้าไปเหยียบแผ่นเหล็กด้านในสุดของกรง
  • วิธีล่อแมวเข้ากรงดัก ก็คือเอาอาหารที่แมวชอบชิ้นไม่ต้องใหญ่มากไปวางไว้ที่ด้านในสุดของกรง
  • แมวอาจมีตกใจบ้างเวลาเหยียบแผ่นเหล็กแล้วประตูกรงปิดเสียงดัง แต่รับรองได้เลยว่าแมวจะไม่บาดเจ็บหรือเป็นอันตรายแน่นอน
  • กรงดักแมวเดี๋ยวนี้มีขายเยอะแยะในเน็ต หรือจะลองติดต่อกู้ภัยหรือศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ใกล้บ้านดูก่อนก็ได้ เผื่อเขามีกรงดักแมวให้ยืม
  • ปูผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวที่พื้นกรงดักให้นุ่มๆ ด้วยก็ดี
3. พาแมวจรเข้าบ้าน

จัดห้องหับให้น้องเหมียว ให้อยู่ในพื้นที่จำกัดก่อน จนกว่าจะเริ่มคุ้นเคยและสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หาห้องเล็กๆ เงียบๆ มาสักห้อง เช่น ห้องน้ำ จะได้ห่างไกลจากทั้งคนและสัตว์เลี้ยงตัวอื่น วางกระบะทราย ชามอาหาร ชามน้ำ และของเล่น 2 – 3 ชิ้นไว้ในห้องด้วย

  • เช็คให้ชัวร์ว่าปิดประตูหน้าต่างสนิทดีแล้ว แมวจะได้ไม่หนีไป และสำรวจห้องหารูหรือรอยแตกต่างๆ ที่แมวอาจจะมุดหนีออกไปได้เช่นกัน
  • ถ้าในห้องนั้นมีชั้นวางของ ให้เอาทุกอย่างที่แมวอาจกระแทกตกลงมาออกให้หมด
  • ทำมุมไว้ให้แมวได้ซ่อนตัว (เช่น หาลังกระดาษมาคว่ำ แล้วเจาะรู)
  • อย่างน้อยช่วง 2 – 3 วันแรก ให้ใช้ดินปลูกต้นไม้ (ดินธรรมชาติ) แทนทรายแมวไปก่อน เพราะจะคุ้นเคยกว่าทรายแมวที่ใช้กับกระบะทราย
  • ตอนกลางคืนให้เปิดไฟดวงเล็กๆ ก็พอ อย่าเปิดไฟที่เพดานจนสว่างจ้า ห้องสลัวๆ หน่อยจะทำให้รู้สึกปลอดภัยในที่ทางใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
  • ถ้าอยากให้แมวทำความคุ้นเคยกับกลิ่นของคน ให้เอาเสื้อผ้าเก่าๆ (เช่น ถุงเท้าหรือเสื้อที่ไม่ใช้แล้ว) มาใส่ไว้ในห้องที่แมวอยู่
  • ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมงกว่าจะหายตื่น เริ่มสำรวจทำความคุ้นเคยกับห้องนั้น
4. พาไปหาหมอ

ต้องพาไปตรวจร่างกายเบื้องต้นกับคุณหมอ (เช่น ฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ ตรวจหาโรคลูคีเมียในแมว (FeLV) กับเอดส์แมว (FIV)) ถ้าเอาแมวใส่กรงเดินทาง (กล่องเดินทางแบบมีหูหิ้วด้านบน) จะสะดวกกว่ายกไปทั้งกรงที่ใช้ดักแมว

  • เปิดประตูกรงเดินทาง แล้วปูผ้าห่มกับวางขนมไว้ข้างใน แมวจะได้สบายหน่อย
  • เอาผ้าคลุมทั้งกรงดักแมวและกรงเดินทางไว้ แมวจะได้รู้สึกปลอดภัย
5. ดูแลแมวจร

ใช้เวลาได้แต่อย่าเพิ่งแตะต้องสัมผัสตัว พอหายตื่น เริ่มคุ้นเคยกับบ้านใหม่แล้ว ให้เข้าไปในห้องเพื่อสร้างความคุ้นเคยซึ่งกันและกัน ป้องกันการกัดหรือข่วนได้โดยใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงมือ และรองเท้าทุกครั้งก่อนเข้าห้อง ถ้ากลัวจัดจะถือกระดาษลังสักแผ่นเข้าไปด้วยก็ได้ ใช้ป้องกันตัวเผื่อแมวกระโจนเข้าใส่ไง

  • โผล่หน้าเข้าไปให้แมวเห็นทุกวันเวลาเดิม แมวจะได้รู้สึกเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวันและเกิดความเคยชิน
  • เคาะก่อนเปิดประตู แล้วเดินเข้าไปในห้องช้าๆ
  • พูดกับแมวเบาๆ สงบๆ ระหว่างจัดการเรื่องต่างๆ ให้แมว (เช่น เก็บอึฉี่ในกระบะทราย เปลี่ยนน้ำและอาหารให้)
  • ห้ามจ้องตาตรงๆ เดี๋ยวแมวจะรู้สึกว่าถูกคุกคามได้ ให้หลบตาแล้วก้มหัวนิดๆ แทน
  • พอแมวเริ่มคุ้นให้นั่งเล่นอยู่กับแมวนานขึ้นเป็นชั่วโมงทุกเช้าและทุกเย็น นอกจากจะพูดคุยกับแมวแล้ว จะนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ หรือทำงานในคอมไปพลางๆ ก็ได้
  • ห้าม อยู่ๆ ก็ยกตัวแมวขึ้นมาอุ้มเด็ดขาด รับรองว่าจะโดนกัด ข่วน หรือขู่ฟ่อใส่แน่นอน
6. เล่นกับแมวจร

วิธีสร้างความสนิทสนมแบบหวังผล ลองหาของเล่นชิ้นไม่ต้องใหญ่มากจากร้านขายของใช้สัตว์เลี้ยงหรือตามเน็ตก็ได้ มาให้แมวเล่นตอนอยู่ในห้องด้วยกัน หรือจะประดิษฐ์ ‘เบ็ดตกแมว’ ขึ้นมาเองก็ได้ โดยหาเศษผ้ามาติดปลายเชือก แล้วเอาเชือกไปผูกกับไม้ยาวๆ อีกที

  • เวลาเล่นเบ็ดตกแมว ต้องอยู่ด้วยเสมอ เพราะไม่งั้นแมวอาจเผลอกลืนเชือกหรือเศษผ้าเข้าไปจนทำให้อุดตันในลำไส้ เดี๋ยวต้องหาหมอหรือผ่าตัดขึ้นมา
7. อ่านท่าทางก่อนว่าแมวจร ‘พร้อม’ เล่นหรือเปล่า

จะจับต้องทีเหมือนเสี่ยงชีวิต อยู่ๆ ก็อาจตั้งการ์ดขู่ฟ่อขึ้นมา หรือถึงขั้นกระโจนใส่เพราะกลัวจัดได้ ต้องรู้จักสังเกตท่าทีของแมว จะได้รู้ว่าตอนนี้แมวกำลังสบายใจอยู่หรือเปล่า แล้วค่อยขยับขยายต่อไป สัญญาณบอกว่าแมวไม่พร้อมก็เช่น กระโจนใส่ ร้องเสียงดัง หรือหูลู่ซะจนแบนติดหัว

  • ถ้าไม่อยากให้อุ้มหรือจับตัว รับรองว่าแมวจะขู่ฟ่อแบบจัดเต็ม
  • แต่ถ้าน้องแมวดูค่อนข้างผ่อนคลาย ไม่แสดงท่าทีก้าวร้าวตอนอยู่ใกล้ๆ นั่นเป็นสัญญาณที่ดีว่าน่าจะจับได้ไม่มีปัญหา
8. ให้แมวชินกับมือซะก่อน

แมวจรไม่เคยถูกใครสัมผัสแตะต้อง ต้องฝึกให้คุ้นเคยกับมือซะก่อน เริ่มจากแปะฝ่ามือลงบนพื้น รอจนแมวเข้ามาหาเอง แล้วปล่อยให้แมวเอาตัวชนหรือไถขา แขน หรือมือ

  • อดใจไว้ อย่าเพิ่งลูบ ปล่อยแมวสำรวจมือหรือตัวไปก่อน ให้ได้รู้ว่าไม่มีพิษมีภัยอะไร
  • ตอนแรกให้วางมือห่างจากตัวแมวหน่อย พอแมวเริ่มคุ้นกับมือแล้ว ก็ค่อยขยับไปวางมือใกล้ๆ
  • อย่าลืมว่าปล่อยให้แมวเข้าหาก่อนเสมอ เพราะถ้าเป็นฝ่ายเข้าหา อาจโดนแมวจู่โจมได้
9. ถึงเวลาลูบแมวจร

วินาทีที่ได้ลูบนี่แหละ ที่จะชี้ชะตาว่าว้ใจหรือยัง ตกลงยอมหรือพร้อมจู่โจมให้วางของเล่นไว้ใกล้ๆ มือ จากนั้นก็แปะฝ่ามือลงบนพื้นอย่างเคย พอแมวเดินเข้ามาหา ดม แล้วเอาหน้าหรือตัวดันมือก็ฉวยโอกาส ค่อยๆ ยกมือขึ้น แล้วค้างไว้ในระดับสายตาของแมว

  • ยกมือค้างไว้ที่ระดับสายตาแมวแป๊บนึง แล้วเริ่มลูบได้เลย
  • ระหว่างนี้จับสังเกตท่าทีของแมวให้ดี ถ้าแมวเกร็งตัว สะบัดหางกระตุกไปมา รูม่านตาขยาย และหูลู่ติดหัวเมื่อไหร่ให้หยุดลูบทันทีแล้วถอยห่างออกมา
  • ครั้งแรกถึงจะดีใจแค่ไหนก็ให้ลูบนิดเดียวพอ สรุปคือให้ชิงเลิกลูบซะ ก่อน แมวจะเป็นฝ่ายแสดงท่าทีไม่สบอารมณ์
10. ถ้าเป็นลูกแมวก็อุ้มได้

ถ้ายังเป็นลูกแมว ก็ลองอุ้มได้เลย แล้วพอแมวชินมือก็ค่อยให้นั่งบนตัก แต่ยังไงก็อย่าชะล่าใจ แมวจรก็กึ่งๆ เหมือนสัตว์ป่า ทางที่ดีให้ค่อยๆ ห่มตัวแมวด้วยผ้าเช็ดตัวอย่างเบามือ (ห่มถึงคอ) จะได้ไม่เสี่ยงถูกข่วนหรือกัด

  • พลิกตัวลูกแมวให้หันหน้าออกจากตัวแล้วใช้มือคีบหนังที่หลังคอ (scruff) ให้มั่น จับให้ใกล้หูมากที่สุด และระวังอย่าจิกหรือบีบแน่นเกินไป
  • ค่อยๆ ยกตัวลูกแมวขึ้นมาวางบนตัก ถ้าลูกแมวว่าง่าย ให้ลูบและพูดคุยกับแมวด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน
  • ถึงตามธรรมชาติแม่แมวจะคาบคอลูกแมวแบบนี้ แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่บางทีลูกแมวไม่ยอมให้คีบคอ ต้องหัดอ่านสีหน้าท่าทางของแมว จะได้ดูออกว่าแมวชอบหรือหงุดหงิด
  • ห้าม เข้าหาแมวหรือลูกแมวจากข้างหน้าเด็ดขาด

แมวจร

11. ดูแลขนของแมวจร

การแปรงขนนอกจากจะทำให้แมวได้คุ้นเคยกับสัมผัสแล้ว ยังทำให้แมวสบายตัวขึ้นด้วย เพราะขนสวยและผิวหนังสุขภาพดี ให้แปรงขนน้องแมวด้วยแปรงขนนุ่มสำหรับแมวโดยเฉพาะ หรือจะใช้หวีเหล็กซี่ถี่สำหรับสางหาหมัดก็ได้
  • ทั้ง 2 แบบที่ว่ามีขายทั่วไปตามร้านสัตว์เลี้ยงและในเน็ต
  • หมัดนี่แหละตัวอันตรายเพราะอาจทำให้โลหิตจางรุนแรงถึงชีวิตได้ นอกจากสางขนด้วยหวีหาหมัดแล้ว ควรใช้ยาป้องกันหมัดโดยเฉพาะด้วย (ลองสอบถามคุณหมอดู)
12. ประเมินความเชื่อง

ประเมินความเชื่อง แมวจรนั้นมีทั้งแบบเปรียวมาก (ไม่คุ้นหรือไม่เคยสัมผัสคนเลย ไม่ก็เคยถูกคนทารุณ) พอเชื่อง (เคยสัมผัสคนแบบดีๆ มาบ้าง) และเชื่องมาก (แมวบ้านที่ถูกทิ้งแรกๆ อาจมีระแวงบ้างนิดๆ หน่อยๆ) แมวที่เปรียวมากจะเข้าหาและฝึกให้เชื่องได้ยากที่สุด ส่วนแมวที่เชื่องอยู่แล้วก็แค่ต้องทำความรู้จักคุ้นเคยกันก่อนเท่านั้นเอง

  • แมวที่พอเชื่อง จะมองคนเป็นเหมือนแหล่งอาหาร แต่ไม่ต้องการให้คนมาแตะต้องตัว การที่ยังพอคุ้นเคยกับคนอยู่บ้าง ทำให้แมวไม่ตื่นเกินไป พอเข้าใจท่าทีของคนและสภาพแวดล้อมต่างๆ ของคน
  • แมวที่พอเชื่องก็คือ ‘แมวประจำชุมชน’ ที่เราเห็นเดินไปเดินมาแถวบ้านนั่นแหละ
13. คาดเดาอายุของแมวจร

ถ้าพอรู้ว่าแมวแก่หรือเด็ก ก็จะบอกได้คร่าวๆ ว่าแมวตัวที่ว่ายังพอฝึกให้เชื่องได้หรือเปล่า ถ้าเป็นลูกแมวอายุไม่เกิน 10 – 12 อาทิตย์นี่ฝึกได้ง่ายๆ เลย แมวแก่ที่เป็นแมวจรมาตลอดชีวิตนี่แหละที่โหดหิน คือฝึกยากมากไปจนถึงฝึกไม่ได้เลย

  • ห้ามพรากลูกปจากแม่แมวจนกว่าจะหย่านม หรือก็คืออายุได้ประมาณ 13 อาทิตย์ เรื่องนี้สำคัญมากนะ ถ้าเป็นลูกหมา อายุประมาณ 8 อาทิตย์ก็เอามาเลี้ยงได้แล้ว แต่ลูกแมวนี่ห้ามเด็ดขาด ถ้าเอามาจากแม่แมวเร็วเกินไป จะส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกแมวในระยะยาว รวมถึงมีปัญหาด้านพัฒนาการด้วย ผู้เชี่ยวชาญต่างก็เห็นตรงกันว่าต้องรอจนลูกแมวอายุได้ 13 อาทิตย์นี่แหละถึงจะแยกจากแม่ได้อย่างปลอดภัย
  • ถ้าลูกยังอยู่กับแม่ ให้ดักจับมาพร้อมกัน จากนั้นก็เลี้ยงไว้ในบ้านจนกว่าลูกแมวจะหย่านม สุดท้ายคือติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสัตว์เรื่องทำหมันแม่แมว แล้วค่อยปล่อยแม่แมวกลับไปถิ่นเดิม
14. ประเมินความสามารถของตัวเอง

การฝึกให้เชื่องนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ไม่มีอะไรรับประกันได้หรอก ว่าสุดท้ายแมวจะเชื่องสมใจ นอกจากเป็นเรื่องยากแล้วยังต้องใช้เวลานาน ถ้าเป็นลูกแมวก็อาจทำได้ใน 2 – 6 อาทิตย์ แต่ถ้าเป็นแมวโตนี่อาจนานเป็นปีขึ้นไป

  • การฝึกแมวให้คุ้นเคยกับบ้าน ต้องใช้เวลาเป็นหลายชั่วโมง ต่อวัน และติดต่อกันเป็นเดือนๆ ถามตัวเองดูให้ชัวร์ก่อน ว่ามีเวลา ความพร้อม และความตั้งใจขนาดนั้นไหม
  • บางทีก็มีสารพัดโรค นอกจากค่าตรวจร่างกายและฉีดวัคซีนเบื้องต้นแล้ว อาจต้องมีค่าใช้จ่ายอีกสารพัด

เคล็ดลับการเลี้ยงแมวจร

  • คิดจะฝึกให้เชื่องต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูในระยะยาวด้วย
  • อย่าเสียใจไปถ้าฝึกตัวใดตัวหนึ่งให้เชื่องไม่สำเร็จ เพราะบางตัวก็ไม่เหมาะจะเลี้ยงเป็นแมวบ้านจริงๆ
  • ถึงจะฝึกจนเชื่องแล้ว แต่บางตัวก็ยังรักสันโดษ เพราะงั้นก็อย่าไปเซ้าซี้เลย รอเล่นตอนที่แมวเข้ามาหาเองดีกว่า
  • ไม่เหมาะจะยกให้ใครรับเอาไปเลี้ยง เพราะจะเชื่องแต่กับคนที่ฝึกมันเท่านั้น
  • เวลาเล่นกับแมว ทั้งแมวและต้องอารมณ์ดีสบายใจ อย่าลืมลูบแมวอย่างนุ่มนวลเบามือเท่านั้น
  • ควรหาซื้อ กรงแมว เพื่อให้เค้าอยู่เป็นที่ เป็นทาง ถ้าเราไม่มีพื้นที่ หรือห้องแบบปิดได้มิดชิด และไม่ควรขังน้องแมว ให้อยู่ในกรงแมวทั้งวัน เพราะอาจเครียดได้ ควรปล่อยเค้าออกมาเล่นข้างนอกบ้าง วันละ 1-2 ชั่วโมง
  • ถ้าไม่กล้าดักหรือจับตัวให้ปรึกษาสัตวแพทย์หรือศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ เพราะถ้าเงอะๆ งะๆ จะถูกแมวกัดหรือข่วนได้จนอาจเจ็บป่วยขึ้นมา
แมวจรบางทีก็เหมือนสัตว์ป่านั่น ถ้าไม่ระวัง เข้าไปหาสุ่มสี่สุ่มห้าก็ถูกกัดถูกข่วนได้ง่ายๆ ถ้าไม่กล้าดักหรือจับตัวแมว ให้ปรึกษาสัตวแพทย์หรือศูนย์ช่วยเหลือสัตว์จะดีกว่า คุณภาพชีวิตถือว่าต่ำมาก ทั้งต้องเผชิญกับสภาพอากาศต่างๆ (เช่น ฝนตก ลมแรง) ติดเชื้อนู่นนี่ และอาจถูกทำร้ายจากทั้งคนและสัตว์อื่นๆ เพราะฉะนั้นเลยมีอายุขัยไม่ถึง 50% ของแมวบ้านเท่านั้น การรับแมวจรมาเลี้ยงจึงต้องดูให้ดีและเลียงให้เหมาะสม

 

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่  snapcaledononline.com
สนับสนุนโดย  ufabet369